รถยนต์ไฟฟ้าจีน : หลากมุมมองของประชาคมโลกที่น่าคิด
 การเผยแพร่:2024-07-26 15:45:00   ดูความถี่:0 แหล่ง:CMG

\

การทุ่มเทพัฒนาพลังงานสีเขียว ที่นำไปสู่การเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ของจีน ณ วันนี้ ต้องถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า จนทำให้มีผู้ประกอบการด้านรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน และธุรกิจต่อเนื่องที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นอย่างมาก ซึ่งความสำเร็จนี้ได้กระตุ้นให้บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย มีการตื่นตัวในเรื่องการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

แต่จากภาวะเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวช้าจากวิกฤตโควิด-19 ที่รุนแรงทั่วโลก ซึ่งจีนก็ไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ จึงได้มีการเร่งส่งออกสินค้าจีน โดยใช้ข้อได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิต ทำให้ราคาสินค้าส่งออกของจีนสามารถแข่งขันได้ดีในตลาดโลก ยิ่งบวกกับทิศทางการพัฒนาของจีนภายใต้แนวคิด “ทันสมัย ทันโลก” ทำให้จีนมีการพัฒนาด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีอย่างมาก หลายๆเทคโนโลยีของจีนได้รับการยอมรับว่าทันสมัยไม่แพ้ซีกโลกตะวันตก ซึ่งรวมถึงการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของจีนด้วย ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าของจีนสามารถส่งออกไปสร้างตลาดได้ทั่วโลก ยิ่งผู้บริโภคในประเทศต่างๆยอมรับรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ยิ่งทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของจีนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในซีกตะวันตกและซีกเอเชีย ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น

และทำให้เกิดประเด็นว่า การที่จีนสามารถส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งสินค้าส่งออกอื่นๆ ในราคาที่แข่งขันและเจาะตลาดได้ดีนั้น เป็นเพราะกำลังการผลิตของจีนในปัจจุบันล้นความต้องการบริโภคในจีนหรือไม่ รถยนต์ไฟฟ้าของจีนล้นตลาดใช่หรือไม่ จึงทำให้มีการส่งออกในราคาที่สร้างแรงจูงใจต่อผู้บริโภคได้ดี

ข้อสงสัยกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนว่ามีภาวะล้นตลาดนั้น ในความเป็นจริงพบว่า อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization Rate) ของยานยนต์พลังงานใหม่ของจีน อยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 ของกำลังการผลิตทั้งหมด จึงถือว่ายังไม่ได้ล้นตลาดอย่างที่มีประเด็นสงสัย และสอดคล้องกับข้อมูลของ สมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศจีน (China Association of Automobile Manufacturers) ที่รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2020-2023 อัตราการเข้าถึง (Penetration Rate) ของยานยนต์พลังงานใหม่ในจีน ได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.4 เป็นร้อยละ 31.6 สะท้อนว่าคนจีนเองนิยมซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และแนวโน้มยังเติบโตได้อีกมาก

ส่วนที่ถูกมองว่ากำลังการผลิตของจีนล้น จึงได้เร่งทำการส่งออก เป็นผลมาจากกระแสการตอบรับรถยนต์ไฟฟ้าของจีนเกิดขึ้นทั่วโลก โดยในปี 2023 การผลิตและจำหน่ายยานยนต์พลังงานใหม่ของจีนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของทั่วโลก และการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานใหม่ของจีนยังทำสถิติสูงสุดอยู่ที่ 1.2 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 77.2 เมื่อเทียบเป็นรายปี

มุมมองที่พึงตระหนัก คือ จีนเพิ่งมาเร่งพัฒนา เร่งผลิต จนเกิดภาวะการผลิตล้น ต้องเร่งส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงปี 2 ปีนี้ จริงหรือไม่  ในเรื่องนี้พบว่า จริงๆแล้ว สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ได้มีการผลักดันให้เศรษฐกิจจีนเข้าสู่การพัฒนาที่ทันสมัย ภายใต้ปรัชญาการพัฒนาใหม่ ซึ่งเน้นการเติบโตอย่างสร้างสรรค์ สอดประสานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปิดกว้าง และแบ่งปัน โดยริเริ่มการปฏิรูปโครงสร้างอุปทาน ผลักดันเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่มีคุณภาพสูง โดยเริ่มมาไม่น้อยกว่า 10 ปีแล้ว จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยจีนรุ่นใหม่ๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าจีนด้วย โดยเมื่อปี 2014 สี จิ้นผิง ได้ไปเยี่ยมชม โรงงานของเอสเอไอซี มอเตอร์ (SAIC Motor) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของจีนในขณะนั้น  และได้เน้นย้ำความสำคัญของยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ว่าจะช่วยเสริมสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนได้ในอนาคต ซึ่งขณะนั้นยานยนต์ส่วนใหญ่ในจีนยังใช้พลังงานน้ำมันอยู่เลย

ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะปรากฏภาพข่าวที่ สี จิ้นผิง ไปเยี่ยมชมบริษัทรถยนต์ เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ และกระตุ้นบรรดาผู้ผลิตยานยนต์ให้ความสำคัญกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยมุ่งเรื่องการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศ และตลาดโลก ด้วยแนวคิดว่า “พลังการผลิตใหม่ที่มีคุณภาพ” ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีน และทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของจีนครองอันดับหนึ่งของโลก 9 ปีติดต่อกัน

ที่สำคัญ การที่อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ของจีน มีการพัฒนาอย่างมาก ทำให้แม้แต่ค่ายรถยนต์ เทสลา (Tesla) ซึ่งมีการเร่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ยังได้มีการไปลงทุนสร้าง “โรงงานเซี่ยงไฮ้ กิกะแฟคทอรี” ในเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2019 และเริ่มต้นส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า รุ่นโมเดล 3 ที่ผลิตจากโรงงานในจีนชุดแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2019 นั่นเอง จึงยิ่งเป็นการสะท้อนว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ของจีนได้รับการยอมรับ และทำให้รถยนต์ไฟฟ้าจีนสามารถเจาะตลาดโลกได้อย่างที่ปรากฏ โดยไม่ใช่เรื่องกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้นแต่อย่างใด

ในส่วนของไทยเอง แม้จะมีการพูดถึงการเข้ามาตีตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าจีน รวมถึงประเด็นในเรื่องราคาขายเป็นกลยุทธ์การตลาดให้ผู้บริโภคสนใจรถยนต์ไฟฟ้าจีน แต่การใช้ราคา (Price) เป็นสิ่งที่ทุกประเทศล้วนใช้ในการแข่งขันมาโดยตลอด ซึ่งปัจจัยสำคัญจริงๆของการแข่งขันด้านราคา อยู่ที่ต้นทุนการผลิต ดังนั้นในประเด็นนี้ทุกประเทศ รวมทั้งไทย จะต้องเร่งทบทวนในเรื่องการควบคุมต้นทุนการผลิต ต้นทุนแรงงาน และต้นทุนพลังงาน ควบคู่ไปกับการเร่งพัฒนาเทคโนโลยี และสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น มากกว่าที่จะมองว่าจีนเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวเพราะมีกำลังการผลิตล้น

อย่างค่ายรถยนต์ไฟฟ้า ‘Zeekr’ ของจีนที่ส่งออกรถยนต์ไฟฟ้ามาจำหน่ายที่ไทยด้วยนั้น ไม่ได้มุ่งมาขายเฉพาะที่ประเทศใด แต่ปัจจุบันจำหน่ายในตลาดหลักๆ ประมาณ 30 ประเทศ ซึ่งมีทั้ง สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ไทย และเม็กซิโก อีกทั้งยังเร่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยด้านขวา เพื่อเจาะตลาดมาเลเซีย และ อินโดนีเซีย มากขึ้น และยังประกาศด้วยว่าเตรียมจะขยายตลาดส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 50 ประเทศภายในปี 67 นี้ จึงเป็นสัญญาณการแข่งขันการตลาดที่ทุกค่ายรถยนต์ทั่วโลกต้องไม่มองข้าม และเตรียมรับการแข่งขันทางการตลาดที่จะเกิดขึ้น มากกว่าที่จะมาคำนึงว่ากำลังการผลิตของจีนล้นตลาดจริงหรือไม่

สำหรับประเทศไทย ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ระหว่างไทย-จีน นั้นมีมายาวนาน ปีหน้าจะครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน ดังนั้น พื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กับ การแข่งขันทางการค้า ควรจะต้องมีความชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน ซึ่ง นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้กล่าวในการเปิดงานพิธีปฐมนิเทศ “หลักสูตรอบรมผู้นำธุรกิจไทย-จีน” รุ่นที่ 1 ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำว่า จีนและไทยเป็นมิตรประเทศที่ดี  เป็นญาติที่ดีที่ผูกพันกันด้วยสายเลือด และเป็นหุ้นส่วนที่ดีที่มีอนาคตร่วมกัน ด้วยเหตุนี้การพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีในอนาคต เพื่อผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่งใน 50 ปีข้างหน้าจากนี้ไปจึงเป็นสิ่งจำเป็น

นายหาน ยังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อไทยและอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ไทย ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศควรตั้งอยู่บนหลักความร่วมมือแบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน และดำเนินการตามกฎหมายและกฎระเบียบ ถือเป็นนโยบายของรัฐบาลจีนในการที่บริษัทจีนไปลงทุนค้าขายในต่างประเทศ จึงยืนยันว่า สาระสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ไทยคือ “ผลประโยชน์ร่วมกัน”

ที่สำคัญกรณีของไทยนั้น จีนได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการเพิ่มการจ้างงาน การสร้างรายได้จากภาษีและการส่งออก ตลอดจนการอบรมบุคลากรทางวิชาชีพของไทย ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย

สอดคล้องกับ อัครราชทูต นายอู๋ จื้ออู่ ซึ่งบรรยายในหัวข้อ “รู้จักประเทศจีน ความสัมพันธ์จีน-ไทยและความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน” ที่ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของจีนและไทย โดยเน้นว่าหลักการของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ไทย คือผลประโยชน์ร่วมกัน การลงทุนของจีนเอื้อต่อเศรษฐกิจการค้าและการพัฒนาสังคมของไทย  ทั้งสองฝ่ายจึงควรร่วมกันหวงแหนและปกป้องรักษาสถานการณ์ที่ดีสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ไทย และที่ผ่านมาการสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกันยังคงบรรลุผลสำเร็จใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง  จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยมาหลายปีติดต่อกัน และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้กลายเป็นแหล่งการลงทุนจากต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของไทย

การเข้ามาเจาะตลาดเมืองไทยของรถยนต์ไฟฟ้าของจีน จึงถือเป็นปรากฏการณ์ทางการค้าที่ปกติ อย่างไรก็ตาม ไทยและประเทศต่างๆ จะต้องเร่งพัฒนา เร่งปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

โดย นายภูวนารถ ณ สงขลา


ที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการการค้าชายแดนและข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ หอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว Bangkok Wealth & Biz และ สำนักข่าว บางกอกทูเดย์

ขอแนะนำให้คุณอ่าน

ช่องแนะนำ

ด้านบน คิดเห็น