ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รอบอ่าวเป่ยปู้สำคัญแค่ไหน
 การเผยแพร่:2010-05-05 14:43:00   ดูความถี่:0 แหล่ง:กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551
   ในขณะนี้ จีนได้พยายามผลักดันให้เกิด ความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ (Pan-Beibu Gulf Economic Cooperation : PBG) เพื่อร

ในขณะนี้ จีนได้พยายามผลักดันให้เกิด ความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ (Pan-Beibu Gulf Economic Cooperation : PBG) เพื่อร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รายรอบอ่าวเป่ยปู้ (อ่าวตังเกี๋ย ในภาษาเวียดนาม) ในบริเวณทะเลจีนใต้ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน โดยมีรัฐบาลกวางสี เป็นหัวหอกของจีนในการผลักดัน ความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคแห่งใหม่นี้ และเมื่อต้นปี รัฐบาลกลางของจีนได้แสดงความจริงจังในการผลักดันแนวคิดดังกล่าว ด้วยการยกระดับ "แผนการพัฒนาเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้" ให้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับชาติของจีน รวมทั้งผลักดันให้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะขึ้น เพื่อศึกษาโอกาสและแสวงหาลู่ทางในการร่วมมือกัน ภายใต้ชื่อเรียกโดยย่อว่า "Expert Group on PBG"
 
ที่สำคัญ จีนได้เชิญให้ผู้แทนของประเทศไทยเข้าร่วมในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวด้วย และดิฉันได้รับเชิญ ให้เป็นหนึ่งในตัวแทนจากไทย เพื่อเดินทางไปเข้าร่วมประชุมจัดตั้ง Expert Group ครั้งที่ 1 ณ เมืองเป๋ยไห่ ของกวางสี ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
 
จากมุมมองในฐานะนักวิชาการไทย พอจะวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค (SWOT Analysis) ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ โดยสรุปได้ดังนี้
 
เริ่มจาก "จุดแข็ง (Strength)" ของกรอบความร่วมมือนี้ ได้แก่ ศักยภาพของโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง และศักยภาพ ในการเชื่อมโยงโลจิสติกส์การค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะการขนส่งทางทะเลเพื่อเชื่อมโยงกับกวางสี ซึ่งเป็นมณฑลตะวันตกของจีนเพียงแห่งเดียว ที่มีทางออกทะเล และมีท่าเรือน้ำลึกที่สามารถเชื่อมต่อโดยตรงเข้ากับระบบราง (รถไฟ) เพื่อกระจายสินค้าต่อไปยังจีนตะวันตกอื่นๆ อีก 10 กว่ามณฑล
 
นอกจากนี้ ยังมีจุดแข็งจากปัจจัยเอื้อเชิงนโยบายของรัฐบาลจีน ทั้งระดับประเทศและระดับมณฑล ซึ่งรัฐบาลกวางสี ได้ผลักดันความร่วมมือนี้มาตั้งแต่ปี 2006 และได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาลกลางของจีน ผู้นำจีนในระดับสูงยังได้รับลูกและผลักดันต่อไปโดยการนำเรื่องนี้เข้าสู่กรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน ดังจะเห็นได้จากนายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าของจีนได้เสนอต่อที่ประชุม China-ASEAN Summit เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ให้มีการจัดตั้ง "Expert Group" เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกัน และได้รับการสนับสนุนจากผู้นำอาเซียนอื่นๆ รวมทั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนและธนาคาร ADB
 
อย่างไรก็ดี กรอบความร่วมมือนี้ยังคงมี "จุดอ่อน (Weakness)" ในหลายด้าน อาทิเช่น ปัญหาความไม่ชัดเจน ในด้านกลไกการทำงาน และประสานงาน เนื่องจากค่อนข้างจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับไทย และประเทศอาเซียน ทำให้ยังไม่ชัดเจนว่า จะร่วมมือกันอย่างไร รูปแบบใด และจะร่วมมือในเรื่องใดบ้าง รวมทั้งจุดอ่อนจากการที่ไม่ได้รวมอาเซียนทุกประเทศเข้าร่วมในกลุ่ม อาทิเช่น ลาว พม่า และกัมพูชา ตลอดจนโอกาสที่จะเกิดความซ้ำซ้อน กับกรอบความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว อาทิเช่น กรอบ GMS ระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
 
ในทางกลับกัน แม้ว่าจะยังคงมีจุดอ่อน แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของ "โอกาส (Opportunity)" ดิฉันมองว่า ความร่วมมือนี้จะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่เราควรใช้ประโยชน์ในการเรียกร้องหรือร้องขอในสิ่งที่จีนยังปกป้องหรือยังไม่เปิดกว้าง เพื่อให้รัฐบาลจีนแสดงความจริงใจในการร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม
 
ตัวอย่างเช่น การขอให้จีนพิจารณารวมไทย (รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอื่นในอ่าวเป่ยปู้ที่มิได้มีพรมแดนติดต่อกับจีนโดยตรง) ให้สามารถมีสิทธิได้รับประโยชน์จาก "นโยบายสิทธิพิเศษทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน" โดยปฏิบัติให้เสมือนกับประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับจีนโดยตรง เนื่องจากภายใต้นโยบายดังกล่าว จีนจะลดภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มลงครึ่งหนึ่งของอัตราปกติสำหรับการค้าชายแดนกับประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับจีนโดยตรง แต่ที่ผ่านมา ไทยไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ เนื่องจากไทยมิได้มีพรมแดนเชื่อมต่อกับจีนโดยตรง แม้จะมีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างกัน
 
สำหรับประเด็นที่เป็น "อุปสรรคหรือภาวะคุกคาม (Threat)" ของกรอบความร่วมมืออ่าวเป่ยปู้ อาจจะเกิดจากการที่หลายประเทศ ที่เข้าร่วมกรอบนี้ แต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ และยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของกรอบอ่าวเป่ยปู้ และความไม่พร้อมของบางประเทศ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านกำลังทรัพยากรบุคคล เจ้าหน้าที่เจรจา และไม่มีเวลาที่จะศึกษาสาขาที่จะร่วมมือกันอย่างถ่องแท้
 
ที่สำคัญ ในแง่การเมืองระหว่างประเทศ บางประเทศในกลุ่มยังหวาดระแวง ว่า จีนอาจจะใช้กรอบอ่าวเป่ยปู้ ในการเข้ามาขยายอิทธิพลในภูมิภาค รวมไปถึงความละเอียดอ่อนของข้อพิพาทเรื่องอธิปไตยเหนือหมู่เกาะ Spratly และหมู่เกาะ Paracel ในทะเลจีนใต้ ซึ่งนอกเหนือจากจีนแล้ว ประเทศในกลุ่มอ่าวเป่ยปู้ (ยกเว้นไทย) ต่างอ้างสิทธิในหมู่เกาะนี้เช่นกัน ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน รวมทั้งไต้หวัน
 
โดยสรุป จากจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค (SWOT Analysis) ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ที่กล่าวมาทั้งหมด รัฐบาลไทยควรที่จะศึกษาในแต่ละประเด็น อย่างละเอียดรอบคอบ ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรจะละทิ้งโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วม และใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคแห่งใหม่นี้นะคะ
 

ขอแนะนำให้คุณอ่าน

ช่องแนะนำ

ด้านบน คิดเห็น