อิหร่านยินยอมแลกเปลี่ยนเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ตุรกี
 การเผยแพร่:2010-05-21 18:20:41   ดูความถี่:0 แหล่ง:CRI

เช้าวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีมาห์มูด อาห์มาดิเนจาด ของอิหร่าน ประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูล่า ดา ซิลวา แห่งบราซิล และนายกรัฐมนตรีรีเซ็บ เทย์ยิบ เออร์โดแกน แห่งตุรกี ได้เจรจากันที่กรุงเตหะราน และได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ หลังการเจรจา ทั้งสามประเทศได้ออกแถลงการณ์ร่วมฉบับหนึ่งโดยเปิดเผยว่า อิหร่านยินยอมจะส่งแร่ยูเรเนียมที่มีความเข้มข้นระดับร้อยละ 3.5 น้ำหนักประมาณ 1.2 ตันไปยังตุรกี เพื่อแลกเปลี่ยนกับเชื้อเพลิงนิวเคลียร์หนัก 120 กิโลกรัมสำหรับนำไปดำเนินการวิจัยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ อิหร่านจะส่งสาส์นเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวให้แก่องค์กรพลังงานนิวเคลียร์ระหว่างประเทศภายในหนึ่งสัปดาห์ และจะขนส่งแร่ยูเรเนียมเข้มข้นไปยังตุรกีภายในเวลาหนึ่งเดือนหลังจากบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส รัสเซีย และองค์กรพลังงานนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ภายในเวลาหนึ่งปีหลังจากอิหร่านขนส่งแร่ยูเรเนียมเข้มข้นถึงตุรกี ประเทศและองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องส่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์หนัก 120 กิโลกรัมให้แก่อิหร่านเช่นกัน ในช่วงที่แร่ยูเรเนียมเข้มข้นอยู่ในตุรกี ให้ถือว่าแร่ยูเรเนียมเข้มข้นเหล่านี้ยังคงเป็นทรัพย์สินของอิหร่าน องค์กรพลังงานนิวเคลียร์ระหว่างประเทศและอิหร่านจะร่วมกันดำเนินการควบคุมดูแล ถ้าแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวไม่ได้รับการปฏิบัติตาม ตุรกีจะขนส่งแร่ยูเรเนียมคุณภาพต่ำคืนให้อิหร่านตามคำขอร้องของอิหร่าน

เมื่อเทียบกับท่าทีในอดีต ถือว่าครั้งนี้อิหร่านได้อ่อนข้อลงเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้ปัญหานิวเคลียร์อิหร่านที่ตกอยู่ในภาวะชะงักงันนั้นพบกับทางออกใหม่ สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกร่วมกันประณามมาโดยตลอดว่า อิหร่านแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์โดยถือการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติเป็นข้ออ้าง ส่วนอิหร่านปฏิเสธข้อกล่าวหานี้โดยอ้างว่า อิหร่านมีสิทธิ์ในการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ผู้แทนอิหร่านกับผู้แทนสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ฝรั่งเศส และองค์กรพลังงานนิวเคลียร์ระหว่างประเทศได้ปรึกษาหารือกันที่กรุงเวียนนาเกี่ยวกับปัญหาที่อิหร่านนำเข้าเชื้อเพลิงนิวเคลียร์จากต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาเสนอว่า ให้อิหร่านขนส่งแร่ยูเรเนียมคุณภาพต่ำไปยังประเทศอื่นเพื่อเสริมสมรรถนะในการแปรรูปเป็นแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์สำหรับการวิจัย หลังจากนั้นจึงค่อยขนกลับอิหร่าน แต่จนกระทั่งการประชุมปรึกษาหารือดังกล่าวสิ้นสุดลง ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้รับผลคืบหน้าแต่ประการใด มีเพียงแต่เห็นพ้องต้องกันที่จะดำเนินการพิจารณาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของร่างมตินี้ และด้วยการไกล่เกลี่ยจากบราซิลและตุรกีในคราวนี้ อิหร่านจึงยอมอ่อนข้อ และยินยอมแลกเปลี่ยนเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในตุรกี

บราซิลและตุรกีล้วนไม่ใช่ประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ต่างก็คัดค้านประเทศตะวันตกที่ดำเนินการคว่ำบาตรอิหร่านเป็นรอบที่ 4 โดยเห็นว่า อิหร่านมีสิทธิ์ใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ จึงได้เข้าดำเนินการไกล่เกลี่ยทางการทูตในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะนี้ ประเทศตะวันตกยังไม่ได้มีปฏิกิริยาโต้ตอบเกี่ยวกับท่าทีของอิหร่าน
 

ขอแนะนำให้คุณอ่าน

ช่องแนะนำ

ด้านบน คิดเห็น