สวมแว่นส่อง "สองสภาจีน" กับ รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์
 การเผยแพร่:2012-03-23 14:45:57   ดูความถี่:0 แหล่ง:CRI

ช่วงพิเศษส่อง "สองสภาจีน" วันนี้เราได้รับเกียรติจากท่าน รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและสนใจในด้านจีนศึกษาเป็นพิเศษ โดยมีผลงานทางวิชาการและงานวิจัยออกตีพิมพ์เป็นหนังสือ รวมถึงงานเขียนบทความทางวิชาการเผยแพร่ในวารสารและหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง อาทิ คอลัมน์คลื่นบูรพา หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งวันนี้ท่านได้สละเวลามาร่วมพูดคุยและแสดงความคิดเห็นต่อ "รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล" ที่นายกรัฐมนตรีจีน นายเวินเจียเป่าได้กล่าวในพิธีเปิดงานการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมาว่า

รศ.พรชัย:ต้องใช้คำว่าตื่นเต้นกับการประชุมเที่ยวนี้ เพราะนี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่มีการระบุอย่างชัดเจน ที่มีการเน้นว่าจีนจะสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แล้วก็ลดการพึ่งพิงการส่งออก สองเรื่องนี้ผมว่าเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะผมเชื่อว่าเพื่อนนักวิชาการทั่วโลกที่สนใจเรื่องจีนคงรู้สึกเหมือนผม ว่าตลอดช่วงเวลายี่สิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก แม้ว่าเราดูจากภายนอกในฐานะเป็นผู้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในจีนจะรู้สึกยินดีด้วยก็ตาม แต่ก็อดไม่ได้ที่จะเป็นห่วง เพราะว่าธรรมชาติมีความขัดแย้งอยู่คู่หนึ่ง ว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องรวมศูนย์ทรัพยากรทั้งหลายที่จีนมีอยู่

จะเอื้ออำนวยให้เกิดการจัดสรรรายได้แล้วก็แบ่งปันผลประโยชน์ภายในสังคมจีนได้อย่างทั่วถึง พูดง่ายๆ ว่ายิ่งพัฒนารวดเร็วมากเท่าไหร่ เราผู้ที่เฝ้ามองอยู่ข้างนอก ก็ยิ่งเกรงว่าจะเกิดปัญหาทางสังคม ความแตกต่างทางชนชั้นภายในประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น คือ ผมเข้าใจว่า ในคำกล่าวรายงานของท่านนายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่ามีอยู่สามส่วนด้วยกัน ส่วนที่หนึ่งเรื่องของการรายงานกิจการที่ผ่านมาในรอบปี 2011 ส่วนที่สองเรื่องของข้อสังเกตปัญหาที่เกิดขึ้นและแผนงานที่จะแก้ไขในปี 2012 ส่วนที่สามคือแผนงานและงบประมาณที่จะลงทุนใหม่ๆ

ผมตื่นเต้นใน่สวนที่สองที่เป็นข้อสังเกตและแผนงานในอนาคต รัฐบาลจีนเองก็ยอมรับและเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วก็ได้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น

ถ้ามองแบบนักวิเคราะห์และนักวิชาการชาวตะวันตกในช่วงสองสามวันนี้ที่ผมได้สืบค้นดู เค้าคาดการณ์อยู่แล้วว่าจีนจะต้องปรับลดเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลงมา เขามองว่าสืบเนื่องจากวิกฤตทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ถึงตรงนั้นจะเป็นเหตุผลจริงก็ตาม แต่ผมก็ยังคิดว่าตรงนั้นเป็นโอกาสดี เพราะถ้าลดเป้าลงมาเป็น 7.5 จะทำให้จีนมีโอกาสและมีเวลาในการสร้างเสถียรภาพ โดยเฉพาะเสถียรภาพเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจภายใน และยิ่งเน้นย้ำว่าจะไม่พึ่งพาการเจริญเติบโตจากการส่งออก ก็แปลว่าจะมีการพัฒนากำลังในการบริโภคภายในประเทศจีนที่ผมถือว่าสำคัญมาก เพราะมันเป็นกลไกในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น ตรงนี้จะเปิดโอกาสให้สามารถเกลี่ยและกระจาย แม้ยังไม่เกิดความเท่าเทียมระหว่างคนรวยกับคนจน แต่อย่างน้อยทำให้มีความสามารถการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น เงินทองก็จะวนเวียนอยู่ในประเทศ การใช้ทรัพยากร ผลผลิตทางอุตสาหกรรม ทางเกษตรกรรม ก็จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตภายในประเทศให้ดีขึ้น ก็จะช่วยทำให้ประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจตกไปถึงมือของผู้คนทั่วๆไป

ซีอาร์ไอ:การที่สื่อมวลชนต่างประเทศได้ให้ความสนใจต่อการเปิดประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน มีความเห็นว่าระบอบสภาผู้แทนฯนี้ นอกจากจะมีความสอดคล้องกับระบอบการเมืองของจีนในปัจจุบันแล้ว ยังเป็นระบอบการเมืองที่มีความร่วมสมัยและเปี่ยมไปด้วยศักยภาพ ในมุมมองส่วนตัวของอาจารย์รู้สึกว่าการประชุมสองสภาฯ นี้ มีความสำคัญต่อจีน ต่อประเทศไทย และต่อระดับโลกอย่างไร

รศ.พรชัย:ขอแยกตอบเป็นสองส่วนนะครับ ส่วนที่หนึ่งผมไม่ค่อยเชื่อว่าผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศรวมถึงตัวผมด้วย รู้หรือเข้าใจจริงๆ ว่าสองสภานี้คืออะไร ที่ประชุมพรรคคืออะไร เหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะจีนได้พัฒนากลไกและโครงสร้างทางการเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางสังคม แล้วก็เงื่อนไขตทางประวัติศาสตร์ ใครที่อ้างว่าตนเข้าใจสองสภา เข้าใจพรรค เข้าใจกลไล ผมคิดว่ายังต้องใช้เวลาระยะใหญ่ ในเวลาเดียวกันการที่บอกว่าเข้าใจ คือเอารูปแบบหรือโมเดลการประชุมสภาในแบบโลกตะวันตก ในแบบสังคมที่เรียกว่าเสรีประชาธิปไตยทุนนิยมมาจับ แล้วก็มีความรู้สึกว่าหลายปีที่ผ่านมานี้ จีนเปิดโอกาาสให้มีการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น มีการประชุมที่กว้างขวาง มีความพยายามในการจัดให้มีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ก็ไปเข้าใจว่าใกล้กับแบบที่รู้จัก ในส่วนตัวผมคิดว่าจีนยังจำเป็นต้องรักษาเอกลักษณ์ของกลไกการบริหารประเทศ และการรับฟังความคิดเห็นในแบบการประชุมสองสภาต่อไปอีกระยะยาวพอสมควร เพราะจีนมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่เป็นการเฉพาะ ในทางกลับกันผมคิดว่าหลายประเทศในซีกโลกตะวันออก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวลานี้หลายแห่งก็เริ่มเรียนรู้กลไกวิธี กลไกการบริหารราชการบ้านเมืองและงานการเมืองแบบของจีนอย่างสนอกสนใจมาก นี่คือความเห็นที่ผมตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับความเข้าใจของโลกภายนอกต่อการประชุมสองสภา หรือการประชุมพรรคที่จะเกิดขึ้น

 

 

 

 

ขอแนะนำให้คุณอ่าน

ช่องแนะนำ

ด้านบน คิดเห็น