มองจีนจากมุมคนข่าว วัชรินทร์ เศรษฐกุดั่น
 การเผยแพร่:2023-01-29 16:22:53   ดูความถี่:0 แหล่ง:CMG

\

คนไทยหนึ่งเดียวที่เข้าร่วมโครงการ PKU Dongfang Scholarships 2022

วัชรินทร์  เศรษฐกุดั่น หัวหน้ากองข่าวต่างประเทศ ฝ่ายข่าวต่างประเทศ สำนักข่าวไทย มีประสบการณ์ไปประเทศจีนหลายครั้งจากการเดินทางไปทำข่าว  ปี 2022 ที่ผ่านมา วัชรินทร์ได้ไปเยือนจีนอีกครั้ง  ในฐานะผู้ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการ PKU Dongfang Scholarships 2022 โดยมหาวิทยาลัยปักกิ่ง  เข้าร่วมโครงการระหว่างเดือนกันยายน - พฤศจิกายน 2022  ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งในและนอกห้องเรียนกับนักวิชาการของจีนและเพื่อนผู้เข้าร่วมโครงการจากหลายประเทศทั่วโลก และยังได้ลงพื้นที่ทัศนศึกษาดูงานใน 2 มณฑล  การไปจีนครั้งนี้จึงแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา ที่ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับจีนในหลายแง่มุม

ทำไมสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ PKU Dongfang Scholarships 2022

ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินจีนหลากหลายแง่มุม  แต่ไม่ใช่มุมที่เราได้ยินจากจีนโดยตรง  ส่วนใหญ่เราจะรับรู้เรื่องของจีนผ่านสื่อตะวันตก  ทำให้รู้สึกว่าเราเห็นภาพแค่มุมเดียวหรือเหรียญแค่ด้านเดียว  พอทราบว่ามีโครงการนี้  จึงคิดว่ามันคงจะดีถ้าเราได้ไปดูด้วยตาของเราเอง และตรงกับความคิดของตัวเองด้วยว่า เวลาที่เราจะเขียนข่าวถึงประเทศใดประเทศหนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราจำเป็นต้องมีภาพหลายมิติ เราถึงจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเราจะรายงานเรื่องนั้นๆ ได้ครบถ้วน สมบูรณ์แบบแค่ไหน  นี่เป็นปัจจัยแรกเลยที่อยากรู้จักจีนให้มากขึ้น

โครงการ PKU Dongfang Scholarships 2022 มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 3  ก่อนหน้านี้ได้ทราบจากรองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ว่าโครงการเปิดรับสมัคร เลยติดต่อไปที่สถานทูตจีนและส่งประวัติไป  สถานทูตจีนก็จะนำใบสมัครของทุกคนไปให้มหาวิทยาลัยปักกิ่งพิจารณา คนที่มาร่วมโครงการมาจากประเทศกำลังพัฒนา 41 คน จาก 35 ประเทศ จากเอเชียกลาง เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เอเชียเหนือ อีกส่วนมาจากทวีปแอฟริกา และผู้ร่วมโครงการมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ มาจากสื่อ 4 คน สื่อประเทศไทยมีเพียงคนเดียว นอกจากนั้นจะมีนักการทูต  ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ คนที่ทำงานกับสถาบัน Think Tank เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของ Dongfang Scholarships เป็นอย่างไร

วัตถุประสงค์สำคัญของทุนนี้ คือให้ผู้เข้าร่วมโครงการเข้าใจจีนในมิติที่ต่างออกไปจากที่เราเคยได้ยิน ได้รับรู้  หลักสูตรที่เรียนทำให้เรารู้จักจีนมากขึ้น  ผู้สอนเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศจีนและมีนักวิชาการอีกหลายสถาบันระดับมันสมองของจีน ในห้องเรียนอาจารย์แต่ละท่านเปิดโอกาสให้เราซักถามแบบตรงไปตรงมา คำถามแต่ละประเด็นเช่น เรื่องความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ ความต้องการเป็นมหาอำนาจของจีน  การควบคุมสถานการณ์โควิด-19  การใช้สื่อโซเชียลของคนรุ่นใหม่ เป็นต้น ในหลักสูตรมีคลาสที่ชื่อว่า รู้จัก CCP Chinese Communist Party ที่ทำให้เข้าใจระบบการทำงานและอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้การรับรู้ของตัวเองเกี่ยวกับประเทศจีนเปลี่ยนไป

การได้ไปลงพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง

การไปลงพื้นที่ของนักศึกษาทุนแต่ละปีจะแตกต่างกันไป  อย่างปีนี้ได้ไปดูบ้านของเหมา เจ๋อตุง เป็นจุดที่เหมาเจ๋อตุงนำคณะเดิน Long March มาจบที่มณฑลส่านซีและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเป็น 10 ปี เป็นสถานที่ที่เหมา เจ๋อตุงได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน   เป็นการลงพื้นที่ที่อาจารย์ก็จะไปบรรยาย ณ สถานที่นั้นด้วย  อาจารย์บรรยายให้ฟังถึงแนวคิดอุดมการณ์ของเหมา เจ๋อตุง ช่วงก่อร่างสร้างพรรคคอมมิวนิสต์  ทำให้เห็นวิสัยทัศน์ของคนที่จะเป็นผู้นำ คนที่จะพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า อย่างเหมา เจ๋อตุง มีวิสัยทัศน์ว่าต้องให้ความรู้กับคนชั้นรากหญ้า พวกแรงงาน  เหมาเจ๋อตุง จะบอกให้นักปราชญ์ นักวิชาการเขียนหนังสือเพื่อให้ชนชั้นแรงงานมีความรู้ติดตัว  ทำให้เราได้เห็นวิสัยทัศน์ของเหมา เจ๋อตุง ว่า จีนสร้างพื้นฐานแบบนี้ คือทำให้คนมีการศึกษาก่อน หรือการทำให้คนชั้นรากหญ้ามีที่ทำกิน เขาจะได้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ พวกเราเมื่อไปอยู่ ณ สถานที่นั้น ได้เห็นของจริง ได้ฟังการบรรยาย ทำให้เราเข้าใจได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ก็ไปดูหมู่บ้านที่เป็นตัวอย่างในการขจัดความยากจน หมู่บ้านที่เราไปก็ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในจีน  เราได้เห็นบ้านที่ได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นหมู่บ้านที่เป็นโฮมสเตย์ด้วย ความจริงบ้านหลังนั้นเป็นบ้านดินที่สามารถจะพังทลายเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ได้รับการสร้างใหม่ โดยได้รับเงินส่วนหนึ่งมาจากวิสาหกิจจีน  ทำให้ทราบว่า ทำไมวิสาหกิจของจีนถึงได้เจียดกำไรของตัวเองมาช่วยพัฒนาชนบทได้  อาจารย์บอกว่านี่เป็นหลักการหนึ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์บัญญัติเอาไว้ว่า วิสาหกิจใดๆ ของจีนต้องเจียดกำไรส่วนหนึ่งมาพัฒนาพื้นที่ชนบท พื้นที่ที่ยากจน  เขาจะมีความคิดคล้ายๆ กับบ้านเรา ที่บ้านเรามีหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ แต่ของจีนคือหนึ่งบริษัทหนึ่งหมู่บ้าน  ทำให้เห็นว่าการจะพัฒนาประเทศได้ มันต้องไปทุกองคาพยพ ทั้งรัฐ เอกชน วิสาหกิจต้องมาช่วยด้วย ทุกวิชาชีพต้องมาระดมกำลังช่วยกัน ทำให้จีนพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ขจัดคนจนได้ 800 ล้านคนภายในช่วงเวลา 40 ปี  

อีกที่ที่ได้ไปลงพื้นที่คือที่มณฑลเจ้อเจียง  เจ้อเจียงเป็นตัวอย่างของมณฑลที่ได้รับการพัฒนา ทำให้ทราบว่าจีนมีระบบทำให้หน่วยงานภาครัฐทุกระดับต้องทำงาน  เช่น ถ้าพื้นที่ใดทำให้คนพ้นขีดความยากจนได้ พื้นที่นั้นจะได้รับการยกย่องเป็นโมเดล และทางการจะส่งเงินไปช่วยเหลือ หน่วยงานราชการหรือเอกชนที่เข้าไปช่วยเหลือก็จะได้รับสิทธิพิเศษอะไรบางอย่าง  ทำให้ทุกคน หน่วยงานต่างๆ ทุ่มสรรพกำลังทำให้คนยากจนพ้นขีดความยากจนได้  และเจ้อเจียงยังเป็นพื้นที่หนึ่งที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเคยใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ไปเป็นเลขาธิการประจำมณฑลเจ้อเจียง  สมัยก่อนเจ้อเจียงเคยเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมทำทั้งเหมืองแร่ ผลิตปูนซีเมนต์ ทำไปทำมาทรัพยากรทรุดโทรม สี จิ้นผิง  มีแนวความคิดว่า เราไม่ควรแลกทรัพยากรอุดมสมบูรณ์เพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ  ควรหาวิธีใหม่ให้คนอยู่ร่วมกับสภาพธรรมชาติได้ สามารถทำมาหากินได้ สี จิ้นผิง มีคำกล่าวว่า “น้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ ประชาชนมีกิน” ข้าราชการในพื้นที่รับเอาแนวความคิดนี้ของสี จิ้นผิง ไปขบคิดได้ข้อสรุปเป็นวิธีการในการพัฒนา จนพื้นที่นี้ของมณฑลเจ้อเจียงกลับมาเขียวขจีอีกครั้งหนึ่ง

ความประทับใจจากการเข้าร่วมโครงการนี้

ได้เห็นว่าคนจีนทุกหน่วยงานเขามุ่งมั่นช่วยกันพัฒนา  ไม่ยอมปล่อยให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัย อาจารย์ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศที่ด้านที่ตัวเองมีความถนัด  ทำให้เห็นว่า ประเทศที่จะพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว จำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยคนทุกวงการ คนทุกระดับ ไม่เฉพาะแต่รัฐบาลแต่ทุกคนที่คิดว่าตัวเองมีขีดความสามารถจะช่วยกันดึงคนที่ลำบากขึ้นมาให้มีความสุขเท่าๆ กันได้ ต้องอาศัยความร่วมมือกันอย่างจริงจังมาก

สิ่งที่ประทับใจอีกอย่างหนึ่งคือ  คำพูดของอาจารย์ท่านหนึ่งที่ชอบมาก อาจารย์บอกว่า “การที่เราจะพูดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราควรคิดและพูดจากสิ่งที่เราได้เห็นด้วยตาตัวเอง” ซึ่งตรงกับสิ่งที่ได้จากไปร่วมโครงการครั้งนี้

ประสบการณ์ที่จีน 3 เดือน ทำให้วัชรินทร์ได้รู้ลึกเรื่องจีนในอีกหลายแง่มุม และยังได้นำประสบการณ์ที่ได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัสจีนด้วยตัวเอง มาถ่ายทอดเรื่องราวจากมุมมองของคนข่าว ในรายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ และเพจของเธออีกด้วย 

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย


ขอแนะนำให้คุณอ่าน

ช่องแนะนำ

ด้านบน คิดเห็น